-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ความเป็นมาของบรรพบุรุษเมืองขุขันธ์ 4 ชนเผ่า

           “ เมืองขุขันธ์ ” ในอดีตเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นทางผ่านของเส้นทางการสร้างปราสาทมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน (Funan) อาณาจักรเจนละ (Zhenla)และ อาณาจักรขอม (Khom) ในสมัยเมืองพระนครคือ นครวัด- นครธม เป็นเส้นทางมิตรภาพโบราณระหว่างสยามกับกัมพูชาที่เดินทางไปมาหาสู่กันจากดินแดนแห่งทะเลสาบ มายังภาคอีสานของประเทศไทยตลอดมา

            เมืองขุขันธ์ ในอดีต หรือพื้นที่ซึ่งเป็นอาณาเขตส่วนใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน มีบรรพบุรุษของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ร่วมกันก่อตั้งเป็นเมืองขุขันธ์ มีประวัติความเป็นมา และขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ประกอบด้วย 4 ชนเผ่า ดังนี้


ชนเผ่ากูย หรือ กวย
            ชาวกูย  ชาว'''กูย''' หรือ '''กวย'''  เป็นชนเผ่าที่ชอบความเป็นอิสระ และมีพัฒนาการของชนเผ่าอยู่เสมอ ชาว'''กูย''' หรือ '''กวย'''ในจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนหนึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมในแถบนี้ และอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า อพยพมาจากเมืองลาวและกัมพูชา ได้มาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้หลายแห่งกระจัดกระจายกันไป แต่ที่จังหวัดศรีสะเกษ  ส่วนหนึ่งเข้าใจว่ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเจียงอี (ภาษากูย "เจียง" แปลว่า ช้าง "อี" หรือ "เอ็ย" แปลว่าป่วย เจียงอี แปลว่า ช้างป่วย) 

           ชาวกูย หรือ กวย จะมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่งอยู่ 3 อย่าง  พวกที่เชี่ยวชาญการจับจ้าง เรียก "กูยดำเร็ย" หรือ "กวยดำเร็ย" (ดำเร็ยภาษาเขมรแปลว่าช้าง)เช่น ชนเผ่ากูยในตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์(ในอดีต)  พวกที่เชี่ยวชาญในการถลุงเหล็กและตีเหล็ก เรียก ''กูยแดก''' หรือ ''กวยแดก" (แดก ภาษาเขมรแปลว่าเหล็ก) เช่น ชนเผ่ากูย หรือ กวยที่ตำบลตะเคียน อำเภอขุขันธ์ และตำบลตะดอบ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ  และชนเผ่า''กูย'' หรือ ''กวย''ที่มีความชำนาญในการปั้นหม้อ เรียก ''กูยฉนัง'' หรือ ''กวยฉนัง" (ฉนัง  ภาษาเขมรแปลว่า หม้อ) เช่นชนเผ่า''กูย'' หรือ ''กวย''บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ ตำบลตะเคียน  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น

ชนเผ่ากูย หรือกวย จะเรียกตนเองว่า กูย หรือ กวย แปลว่า “คน หรือ มนุษย์” อาศัยอยู่กันหลายอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ  ประเพณีของเผ่ากูย หรือกวย ส่วนมากจะปรับตัวให้เข้าไปกับท้องถิ่นที่อยู่อาศัย แต่จะยังคงมีอยู่บ้าง เช่น การเซ่นบรรพบุรุษ  พิธีไหว้ศาลปะกำ หรือการเซ่นไหว้ผีปะกำ  การตั้งศาลผีบรรพบุรุษไว้ที่หิ้งหรือศาลฯลฯ

ชนเผ่าเยอ จริงๆแล้วก็คือ ชนเผ่ากูย หรือ กวย อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มักจะได้ยินชนเผ่านี้พูดสร้อยต่อท้ายด้วยคำว่า “เยอ” เช่น จ็อว-เยอ (มาเด้อ)  หรือ “เยอๆ” หรือ “จ็อว-เยอ-นุ-เนียว-แซมซาย-หมู่ไฮ”(เชิญครับพ่อแม่พี่น้องพวกเรา)    ซึ่งก็คล้ายๆ ชาวไทยแถบจังหวัดระยอง และจันทบุรี ที่นิยมพูดสร้อยต่อท้ายว่า “ฮิ”  จึงทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านได้นิยามคำว่า “เผ่าเยอ” ขึ้นมาเป็นอีกเผ่าหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ  จึงทำให้เกิดการเขียนประวัติศาสตร์เล่าขึ้นมาว่า พญากตะศิลา เป็นหัวหน้านำคนเผ่าเยอ อพยพคนมาจากเมืองอัตปือ แสนปาง มาตั้งอยู่ที่เมืองคง (อ.ราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษมี  ในปัจจุบัน) ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมามีการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ตามที่ต่างๆ  ดังนั้น ถ้าเรายึดตามสำเนียงพูดที่ใกล้เคียงกันกับ"กูยเยอ" หรือ "กวยเยอ" ในอำเภอขุขันธ์ พบมีชาวเยอ อาศัยอยู่ในบางพื้นที่น้อยบ้างมากบ้าง เช่นที่ตำบลจะกง ตำบลกฤษณา  ตำบลหนองฉลอง ที่ หมู่ที่ 5 บ้านตรอย   ตำบลตาอุดที่บ้านโก และบ้านเดื่อ  และตำบลลมศักดิ์  อำเภอขุขันธ์ ในปัจจุบัน

ชนเผ่าลาว
ชนเผ่าลาวในจังหวัดศรีสะเกษ เชื่อว่าอพยพมาจากประเทศลาวในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2237 เกิดกบฏ ในนครเวียงจันทร์ ทำให้ชนเผ่าลาวแย่งอำนาจกันเอง  ฝ่ายหนึ่งต้องลี้ภัยลงมาทางใต้ที่นครจำปาศักดิ์แล้วตั้งต้นปกครองตนเองครอบคลุมพื้นที่ลงมาถึงลุ่มน้ำมูล และในปี พ.ศ. 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพมาสมทบกับตากะจะ เจ้าเมืองขุขันธ์ ไปตีเมืองเวียงจันทร์ได้กวาดต้อนชนเผ่าลาวมาด้วย
ชนเผ่าลาวมีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ  ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดตั้งแต่อำเภอวังหิน ขึ้นไป  สำหรับอำเภอขุขันธ์  พบอาศัยอยู่มากในพื้นที่ของตำบลโสน ตำบลห้วยเหนือ  และตำบลตาอุด  มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายกันกับประเพณีชนเผ่าลาวของชาวอีสานทั่วไป

ชนเผ่าขอม
ตามประวัติ เชื่อว่าดินแดนที่ตั้งของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบันเป็นที่อยู่ของขอมมาก่อน หรือนักวิชาการรุ่นหลังที่ยังขาดความเข้าใจ เรียกว่าเขมรถิ่นไทย หรือคนไทยเชื้อสายเขมรบ้าง  ถ้าหากจะเรียกให้ถูกต้อง ให้เรียกว่า ชนเผ่าขอม
            เมื่อ พ.ศ. 236 พระเจ้าอโศกมหาราช  ผู้ทรงปกครองประเทศอินเดียในสมัยนั้นได้จัดคณะพระธรรมทูตออกเป็น 9 คณะ  โดยคณะที่ 8 มี พระโสณะและพระอุตตระ เป็นหัวหน้าคณะมาเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้มาถึงอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งเรียกว่า อาณาจักรฟูนัน  มีอำนาจอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน  
            ชนเผ่าขอม พบอาศัยอยู่ในจังหวัดแถบอีสานใต้จำนวนมากอยู่ในเขตตอนใต้ของจังหวัดศรีสะเกษอีกด้วย พบอาศัยปะปนกับชนเผ่าเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อปี พ.ศ. 2324 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ซึ่งทางกัมพูชาเกิดความขัดแย้งจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นภายใน  พระเจ้าอยู่หัวแห่งรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปปราบ  การยกทัพไปปราบจลาจลที่กัมพูชาในครั้งนี้ได้มีบัญชาให้ทัพจากเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะร่วมยกทัพไปปราบด้วยในขณะที่กำลังทำการปราบปรามระงับศึกการจลาจลอยู่นั้น ได้รับแจ้งข่าวว่า ที่กรุงธนบุรี กำลังเกิดการจลาจลสร้างความไม่สงบขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การปราบจลาจลในกัมพูชา ยังไม่สำเร็จแต่ก็ต้องเสด็จยกทัพกลับ   ส่วนกองทัพจากเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะที่ได้ยกทัพไปช่วยปราบจลาจลในครั้งนี้  เมื่อยกทัพกลับ ได้กวาดต้อนเอาชาวเขมรจากกัมพูชา (ขะแมร์) มาอยู่ที่เมืองของตนเองด้วยหลายครอบครัว อาศัยอยู่ในหลายอำเภอ แทบทุกตำบล    
        ชนเผ่าขอมขุขันธ์ มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เช่นประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชนเผ่าขอมขุขันธ์มาแต่โบราณ  ซึ่งต่อมาได้วิวัฒน์มาเป็นงานบุญประเพณีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปีของของอำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ ในที่สุด


เรียบเรียงเนื้อหาโดย  ดร.ปริง  เพชรล้วน ล่ามภาษาเขมรกิติมศักดิ์ประจำจังหวัดศรีสะเกษ และนายสุเพียร  คำวงศ์  รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ( 24 มีนาคม 2554 )



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย