-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กระเชอ หรือ กญฺเชอ /ก็อญ-เจอ/...ภูมิปัญญาบรรพบุรุษเมืองขุขันธ์ในอดีต​ : ภาชนะใส่เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีกรรมแซนโฎนตา

         กระบุง และกระเชอโฎนตา หนึ่งรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเมืองขุขันธ์ ด้านภูมิปัญญาการจักสาน เป็นภาชนะสำคัญสำหรับใส่เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษโฎนตา เพื่อจะนำไปส่งหรือจูนโฎนตาร่วมกันทั้งที่บ้านเดิมอันเป็นจุดเริมต้นของวงศ์ตระกูล ในช่วงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ  และไปจูนโฎนตาที่วัดแต่เช้ามืดของวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกปี

คำว่า "กระเชอ" น่าจะมีที่มาจากไหนกันแน่ ? 
      
         คำว่า "กระเชอ" เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร รากศัพท์เดิมคือ កញ្ជើ กญฺเชอ /ก็อญ-เจอ/ ในพจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ โดยสมเด็จพระสังฆราช คณะมหานิกาย ชื่อ ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗(พ.ศ.๒๕๑๐) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า

កញ្ជើ(ន.)របស់ត្បាញដោយបន្ទោះឫស្សីសម្រាប់ដាក់អ្វីៗគ្រប់យ៉ាង,ខាងលើមានរាងមូលហៅថាមាត់ក្ដាប់នឹងបន្ទោះផ្តៅខាងក្រោមរាបហៅថា បាត :
អង្ករ ១ កញ្ជើ ។
 (กญฺเชอ /ก็อญ-เจอ/ น. สิ่งที่จักสานขึ้นโดยตอกไม่ไผ่ ใช้สำหรับใส่สิ่งของอะไรได้ทุกอย่าง สวนบนสุดมีลักษณะรูปร่างโค้งกลม เรียกว่า "ม็วต"(ปาก) มัดตรึงยึดปากกระเชอไว้ด้วยตอกหวาย และส่วนข้างล่างพื้นเรียบ เรียกว่า "บาต"(ก้น)  เช่น ข้าว ๑ กญฺเชอ เป็นต้น
        ในภาษาไทยคำว่า "กระเชอ" เป็นคำนามหมายถึง ภาชนะสานคล้ายกระจาดขนาดเล็ก แต่สูงกว่า ก้นสอบปากกว้าง ใช้กระเดียด; อัตราตวงของโบราณ มีพิกัดเท่ากับ ๕ ทะนาน, และ ๕ กระเชอ เป็น ๑ สัด, กันเชอ ก็เรียก (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒)




                    กระเชอ เป็นภาชนะที่ทำมาจากไม้ไผ่ ด้วยวิธีการจักสาน ก้นสอบ ปากกว้าง ก้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ส่วนปากมีลักษณะเป็นวงกลม มีหลายขนาด ส่วนฐานใช้ก้านตาลมาเสริมเพิ่มความแข็งแรง ส่วนปากใช้กิ่งลำดวนหรือไม้ชนิดอื่นมาทำเป็นขอบ และเสริมด้วยก้านตาลอีกชั้นหนึ่งเพื่อความสวยงาม โดยใช้หวายหรือเชือกเป็นวัสดุในการยึด ชาวบ้านในชนบทใช้สำหรับใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือใส่ของในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ใส่เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีแซนโฎนตา (เซ่นไหว้บรรพบุรุษ)ของชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น


"กระบุง" กับ "กระเชอ" มันต่างกันตรงไหน ?​​          
          ถ้าเรามองดูผิวเผินแล้ว "กระบุง" กับ "กระเชอ"  มีลักษณะคลายๆกันจนแทบจะแยกไม่ออก แต่ถ้าเราใช้หลักในการสังเกต ดังต่อไปนี้  เราก็จะรู้ได้เลยว่า อะไรคือ  "กระบุง" หรืออะไร คือ "กระเชอ" ?

  1. ถ้ามีรูปร่าง"ป่องตรงกลางและก้นสอบ" คือมีรูปทรงคล้ายตุ่ม หรือโอ่งน้ำ คือ "กระบุง" ชาวบ้านมักนิยมเอาสายไนล่อนมาร้อยด้านข้างของกระบุงทั้ง 4 ด้าน แล้วรวบผูกปมเชือกด้านบนให้เป็นช่องสำหรับใช้กับไม้คานเพื่อหาบสิ่งของต่าง ๆ เช่น หาบกระบุงใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร  หรือสิ่งของและเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีแซนโฎนตา เป็นต้น
2. ถ้ารูปร่าง"ปากกว้างและก้นสอบ" ก็คือ "กระเชอ" ชาวบ้านในชนบทนิยมใช้เป็นอุปกรณ์ในการตวงวัดข้าว(ก่อนที่หันมาใช้ปี๊บ) หรือเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือสิ่งของและเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีแซนโฎนตา เช่นเดียวกับกระบุง โดยชาวบ้านจะต้องใช้สองมือโอบอุ้มกระเชอไว้ด้านหน้า  หรือแบกกระเชอใว้บนบ่า นั่นเอง
ขอบคุณที่มาจากทุกแหล่ง :
๑. พจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗ (พ.ศ.๒๕๑๐)
๒. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
๓. สุชาติ  สมาน กลุ่มงานวิชาการ สภาวัฒนธรรมสำโรงตาเจ็น.[ออนไลน์] http://samarn.multiply.com/journal/item/97?&show_interstitial=1&u=%2Fjournal%2Fitem  
๔. ทวี  กองศรีมา . การจักสานจากไม้ไผ่ .[ออนไลน์] http://www.koratcultural.com/koratcul_maxsite/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=36 
๕. บรรณาลัย.บรรยากาศงานเทศกาลเเซนโฎนตาแคเบ็น.[ออนไลน์] http://www.oknation.net/blog/print.php?id=145892



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย