-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัตเมืองขุขันธ์ และเจ้าเมืองทั้ง 9 ท่าน โดยละเอียด

เริ่มต้นที่ยุคเมืองมหานคร (Angkor អង្គរ) คลิก 
ณ ที่นี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา - รัตนโกสินทร์
      เมืองขุขันธ์ดังได้กล่าวแล้วว่า  โดยในฐานะเมืองในอดีตเป็นเมืองขนาดใหญ่  (ตั้งขึ้นเป็นเมืองก่อนเมืองใด ๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ ) การปกครองบ้านเมืองของไทยในอดีตโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยา  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  จนถึงยุคปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลนั้น  ได้ยึดหลักเดิมที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  พระมหากษัตริย์องค์ที่  ๘  แห่งกรุงศรีอยุธยา  ทรงกำหนดไว้จะมีวิธีการแตกต่างไปบ้าง  ก็เพียงแต่ทรงมอบอำนาจไม่ให้เสนาบดีก้าวก่ายกัน  อันมีสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา  ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับยุคสมัยจึงยุติว่า  กรุงรัตนโกสินทร์ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชองค์พระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรมและทรงใช้อำนาจโดยสิทธิ์ขาด  ผู้ใดจะขัดขืนต่ออำนาจหรือโต้แย้งพระบรมราชโองการมิได้  โดยกำหนดเป็นศูนย์ปกครองแยกเป็น  3  รูปแบบ ได้แก่
1. รูปแบบเมืองราชธานี
2. รูปแบบเมืองหัวเมือง
3. รูปแบบเมืองประเทศราช
สำหรับเมืองขุขันธ์  ถือว่าปกครองในรูปแบบหัวเมืองแบบจตุสดมภ์  คือเป็นแบบที่มีลักษณะที่คล้ายองค์กรปกครองราชธานี  เริ่มมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นแบบเดิมของไทย  โดยดัดแปลงมาจากแบบของเขมร อันเป็นวัฒนธรรมปกครองหัวเมือง "แบบเจ้าเมืองกินเมือง"  แยกลักษณะองค์กรออกเป็น  5  ตำแหน่ง  คือ  คณะอาชญาสิทธิ์  ผู้ช่วยคณะอาชญาสิทธิ์  กรมการเมืองพิเศษ  กรมการเมืองผู้ช่วยและพนักงาน
คณะอาชญาสิทธิ์ คือ  คณะผู้บัญชาสิทธิ์ขาด  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  คณะกรรมการเมืองใหญ่  พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  แต่งตั้ง  "เจ้าเมือง"   ผู้ว่าราชการเมือง  หรือผู้สำเร็จราชการเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็น   พระ,  พระยา, และ เจ้าพระยา   ถือบรรดาศักดิ์ตามฐานะของเมืองทรงมอบอำนาจให้ปกครอง  บังคับบัญชา  ปลัดเมืองยกบัตรเมือง  กรมการเมืองและราชการในเมืองนั้น ๆ  ถ้ามีเมืองขึ้นให้บังคับบัญชาเมืองขึ้นด้วย  และทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งกรมการเมืองผู้ใหญ่ร่วมเป็นคณะอาชญาสิทธิ์  ประกอบด้วย
1. เจ้าเมือง
2. ปลัดเมือง
3. ยกบัตรเมือง
4. ผู้ช่วยราชการเมือง ( บางเมืองมีหลายคน )
5. กรมการพิเศษเมือง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า จุดกำเนิดของเมืองขุขันธ์สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยาเป็นราชธานี  ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์  มีเหตุการณ์เกิดขึ้น  คือ  พญาช้างเผือกได้แตกโรงหนีจากอยุธยาเข้าป่ามุ่งสู่ชายแดนไทย - เขมร แถบภูเขาพนมดงรัก  จึงได้โปรดให้นายทองด้วงและนายบุญมา สองพี่น้องที่เป็นทหารเอกแห่งกรุงศรีอยุธยาออกติดตามพญาช้างเผือก  โดยมาถึงเมืองพิมาย  เจ้าเมืองพิมายนำคณะไปพบหัวหน้าหมู่บ้านเขมรป่าดงในเขตสุรินทร์  แต่ยังมิได้ข่าวพญาช้างเผือกแต่อย่างใดจึงนำคณะไปพบกับหัวหน้าชาวเขมรป่าดงซึ่งเป็นพรานที่มีความชำนาญในการจับช้าง  ชื่อว่า "ตากะจะ" และ "เชียงขันธ์" ที่อยู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน จึงได้ข่าวว่ามีช้างเผือกมาอยู่กับฝูงช้างป่าจริง หัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง  6 คน สามารถจับพญาช้างเผือกได้  และมอบให้คณะผู้ติดตามนำกลับกรุงศรีอยุธยาด้วยความปิติยินดีของคณะผู้ติดตามยังความดีความชอบของหัวหน้าเขมรป่าดงทั้ง  6  คน จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ  บรรดาศักดิ์ ในระดับ "หลวง" ทุกคน สำหรับ"ตากะจะ" หัวหน้าเขมรป่าดงบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับโปรดเกล้า ฯให้บรรดาศักดิ์เป็น "หลวงแก้วสุวรรณ"  ทำหน้าที่นายกองหัวหน้าหมู่บ้าน  และทำราชการขึ้นต่อเมืองพิมาย หลวงแก้วสุวรรณได้สร้างบ้านแปลงเมืองรวบรวมไพร่พลพอสมควรแล้วได้ทรงโปรดเกล้า ฯ  ให้ยกฐานะ "บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ขึ้นเป็น "เมืองขุขันธ์"  และโปรดเกล้า ฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ "หลวงแก้วสุวรรณ" เป็น "พระไกรภักดีศรีนครลำดวน"  และบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายในราชทินนาม "พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน" เป็นเจ้าผู้ปกครองเมืองขุขันธ์เป็นคนแรก
  
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2306  จนถึงปี พ.ศ. 2450 มีการเปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง ทำให้มีเจ้าผู้ครองเมืองขุขันธ์ในฐานะบรรดาศักดิ์ "พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน" และ"พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์"  สืบทอดอำนาจปกครองโดยสืบสายสกุลต่อเนื่องจนถึงลำดับที่  9  และเมื่อเข้าสู่สมัยปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลทำให้ตำแหน่ง  "เจ้าเมืองกินเมือง"  หรือ  "เจ้าเมือง"  หมดไป  โดยเปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจนกระทั่งปัจจุบันเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในที่สุด
   
เมืองขุขันธ์มีผู้ปกครองในตำแหน่ง เจ้าเมือง รวม  ๙  ลำดับ ดังนี้ (โปรดคลิกที่รูปเจ้าเมืองแต่ละท่าน เพื่ออ่านประวัติ)

                   
1. พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ
หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก
(ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)


                   

2. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๒
(เชียงขันธ์ หรือ หลวงปราบ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)
       
                   
3. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๓
( ท้าวบุญจันทร์ หรือ พระไกร - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)

                   

4. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๔
( ท้าวทองด้วง หรือ พระสังฆะบุรี  - พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)

                   

5. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๕
( ท้าวใน หรือ หลวงภักดีภูธรสงคราม - พุทธศักราช ๒๓๙๓ )


                   

6. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๖
( ท้าวนวน หรือ พระแก้วมนตรี - พุทธศักราช ๒๓๙๓ )


                  

7. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๗
(ท้าวกิ่ง หรือ หลวงภักดีภูธรสงคราม - พุทธศักราช ๒๓๙๓ - ๒๓๙๕)


                  

8. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๘
(ท้าววัง หรือ พระวิชัย - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)


                  

9. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๙
(ท้าวปาน หรือ ปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช ๒๔๒๖- ๒๔๔๐
/ ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐)
ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล "ขุขันธิน")

หมายเหตุ 
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๔๙
ตำแหน่งที่ตั้งเดิมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของ สนง.ปศุสัตว์อำเภอขุขันธ์ บริเวณโรงฆ่าสัตว์(เก่า) ของเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์ที่เคยสร้างทับโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ปัจจุบันได้รื้อถอนออกไปหมดแล้ว เชื่อว่าน่าจะช่วยเสริมให้ดวงเมืองขุขันธ์ดีขึ้น 
และจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไปในภายภาคหน้าฯ

- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์
- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์
- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศของเราเดิมชื่อ ประเทศสยาม(Siam) 
เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประเทศไทย (Thailand )


วีดิทัศน์ประวัติเมืองขุขันธ์โดยสังเขปที่กล่าวถึงเริ่มต้นจากวีรกรรมการตามจับช้าง
ในช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา  สำหรับเวอร์ชั่นที่เริ่มต้นจาก พ.ศ. 1580 
ยุคเมืองมหานคร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ...ครับ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย