-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำว่า ส่วย ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นวาทะกรรมในอดีต

         ความหมายของคำว่า "ส่วย" ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นวาทะกรรมที่มีมาตั้งแต่ในอดีต หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ในอดีต(อย่างน้อยก็ 4 ชนเผ่าขึ้นไป ได้แก่ ชนเผ่าเขมร กวย ข่า ลาว กุลา ฯลฯ)ที่ต้องส่งส่วยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการในสมัยโบราณ เรียกรวมๆว่า "พวกส่วยต่อมาทางการสมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้เหล่านี้แบบเหมารวมรวมทั้งทุกชนเผ่าว่า "เขมรป่าดง" ในที่สุด  และต่อมาเมื่อ 60 - 80 ปีที่ผ่านมา คำว่า "ส่วย" เป็นคำที่คนไทอีสานถิ่นอื่นๆหรือจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานมักนิยมเรียกเรียก ชนชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดแถบอีสานใต้ว่า "ส่วย" ทั้งที่จริงๆเขาก็เป็นไทอีสานเช่นเดียวกัน เพราะสำเนียงพูดของชนชาติพันธุ์ลาวแถบอีสานใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนคนไทอีสานถิ่นอื่นๆในภาคอีสาน(ลองฟังสำเนียงพูดจาก เพลง หนุ่มศรีสะเกษ ด้านล่าง) และทำให้ชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษไม่พอใจ และพยายามสร้างวาทะกรรมต่อ โดยพยายามโยนและยัดเยียดคำว่า "ส่วย" ให้กับชนชาติพันธุ์อื่นๆในจังหวัดเดียวกัน โดยเฉพาะนักวิชาการชนชาติพันธุ์ลาวในจังหวัดศรีสะเกษ พยายามใช้ครอบงำเพื่อเรียก ชื่อชนชาติพันธุ์กูย กวยในศรีสะเกษว่า "ส่วย" แทนในที่สุด เช่น มักจะพยายามครอบงำว่า ชนเผ่าไทศรีสะเกษ ประกอบด้วย 4 ชนเผ่า ได้แก่ ลาว เขมร ส่วยและเยอ ฯลฯ เป็นต้น โดยที่ชาวกูย กวยบางหมู่บ้านไม่ได้ฉุกคิดและเฉลียวใจว่าตัวเองถูกยัดเยียดต่อมาอีกที ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและเป็นความผิดมหันต์ที่ไม่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง
ตัวอย่างเสียงพูดภาษากูย ของชนชาติพันธุ์กูย
ที่บ้านตะดอบ  ตำบลตะดอบ อำเภอเมือง  จังหวัดศรีสะเกษ
ขบวนเกวียน, จังหวัดขุขันธ์* ปี ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479) 
ช่างภาพ Pendleton, Robert Larimore ภาพจาก UWM Libraries



ลองฟัง...สำเนียงพูดของชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษมีลักษณะพิเศษ
ไม่เหมือนคนไทอีสานถิ่นอื่นๆในภาคอีสาน  จนทำให้คนไทอีสานถิ่นอื่นๆหรือจังหวัดอื่นๆ
ในภาคอีสานเมื่อ 60-80 ปีที่ผ่านมา มักนิยมเรียกชนชาติพันธุ์ลาวในศรีสะเกษว่า
 "ส่วย" ในที่สุด ทั้งที่จริงๆเขาก็เป็นไทอีสานเช่นเดียวกัน

        และหลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทยกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976 (ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-ครั้งที่ 2 แห่งกรุงศรียุธยา เริ่มครองราชพ.ศ.1967 -สิ้นสุดราชกาล พ.ศ.1991 )มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมพระอัยการอาญาหวงห้ามหญิงไทยแต่งงานกับคนต่างด้าว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นคนต่างชาติเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาคงมีการตั้งถิ่นฐานครอบครัวและคลังสินค้ากันในกรุงศรีอยุธยา   จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีหญิงไทยแต่งงานกับคนต่างด้าวบ้าง ด้วยความเป็นห่วงว่าหญิงไทยจะเอาความลับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไปแจ้งให้กับสามีคนต่างด้าวทราบ  และเกรงว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างด้าวและบุตรที่เกิดในภายหลังจะเข้ารีตไปนับถือศาสนาอื่น  จึงมีตรากฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า...
หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทย
แต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976
         เมื่อ พ.ศ. 2062 สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. 2034 - 2072) ทรงจัดให้มีการจัดระเบียบกองทัพ และแต่งตำราพิชัยสงคราม โปรดเกล้า ฯ ให้จัดทำบัญชีกำลังพล เพื่อเกณฑ์พลเมืองเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยกำหนดให้ไพร่ที่เป็นชาย อายุตั้งแต่ 18 - 60 ปี ต้องเข้ารับราชการทหาร ยกเว้นผู้ที่มีบุตรชายแล้วเข้ารับราชการ ตั้งแต่สามคนขึ้น ผู้เป็นบิดาจึงพ้นหน้าที่รับราชการทหาร(6) สำหรับชายที่มีอายุ 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนทหารเพื่อเข้ารับการฝึกหัดทหาร เรียกว่า ไพร่สม เมื่ออายุ 20 ปี จึงเรียกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการเรียกว่าไพร่หลวง  ส่วนพวกที่ไม่สามารถมารับราชการทหารได้ ก็ต้องมีของมาให้ราชการเป็นการชดเชยเรียกว่า ไพร่ส่วย (ซึ่งคำนี้ก็มิได้มีความเกี่ยวข้อง หรือมีความหมายความถึงชนชาติพันธุ์กูยแต่อย่างใดเลย)

ฟังคนสูงวัยให้พรลูกหลานเป็น ภาษากูยปรือใหญ่ โดยคุณพ่อเชื่อม ปรือปรัง บ้านนิคมเขต 8 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้พรลูกหลานเป็นภาษากูยปรือใหญ่ อันเป็นภาษาเก่าแก่ภาษาหนึ่งของชนชาติพันธุ์กูยโบราณนี้ในแถบอีสานใต้ติดเทือกเขาพนมดงรัก
​กูยปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
កួយកោះពឺត หรือ កួយព្រៃធំ ស្រុកគោកខណ្ឌ ខេត្តស៊ីសៈកេត
Kuay Prue Yai, Khukhan District, Sisaket Province.
         คำว่า "ส่วย" พบกล่าวถึงมาก โดยเฉพาะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ระบบเศรษฐกิจการส่งออกมีความสัมพันธ์กับการขยายอํานาจเข้าสู่บริเวณอีสานในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เพื่อจัดการและหาทรัพยากรต่างๆ ป้อนสู่ตลาดในระบบของการค้าแบบส่งออก   ข้อมูลจากการส่งส่วยและบรรณาการที่ทำให้เราได้ทราบเกี่ยวกับทรัพยากรที่สําคัญในท้องถิ่นสมัยนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลิตผลจากธรรมชาติจําพวกของป่าต่างๆ เช่น งาช้าง นอแรด น้ำรัก ขี้ผึ้ง โดยสิ่งของเหล่านี้จะเป็นหน้าที่ของหัวเมืองใหญ่เป็นผู้รวบรวมส่ง เช่น เมืองนครพนม เมืองพวน เมืองคําเกิด ต้องรวบรวมส่งไปยังเวียงจันทน์ แล้วเวียงจันทน์จะรวบรวมส่งลงไปยังกรุงเทพฯ อีกทีหนึ่ง(1) ส่วยที่กรุงเทพฯ เรียกเก็บจึงมีความสัมพันธ์กับการค้าต่างประเทศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อย่างมาก โดยเฉพาะส่วยเร่วในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีมากขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของการค้าสําเภา เพราะผลเร่วเป็นสิ่งที่ชนชั้นนําสยามใช้เป็นสินค้าสําหรับตอบแทนพ่อค้าพานิช นายสลุปกําปั่น และบรรทุกสําเภาออกไปจําหน่าย ณ เมืองจีนเสมออยู่ทุกปีมิได้ขาด(2) รวมถึงประเทศตะวันออกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ญวน อินเดีย ลังกา ฟิลิปปินส์ ชวา มลายู และเปอร์เซีย ที่สยามได้ค่าผ่านเมืองท่าต่างๆ ของประเทศเหล่านั้น(3)

       ดังนั้น "ส่วย" จึงมีความสําคัญต่อการค้าสําเภาและรายได้ของราชสํานักกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน หากเมื่อใดมีการขาดหรือค้างส่งส่วยกรุงเทพฯ จะมอบหมายให้เมืองใหญ่ในบริเวณนั้นติดตามทวงเร่งรัดสิ่งของต่างๆ เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพรหมวงษาอุปหาตเมืองอุบลราชธานีได้มีใบบอกส่งส่วยผลเร่ว งาช้าง น้ำรัก ให้เมืองนครราชสีมาจัดบรรทุกโคลงไปส่งยังกรุงเทพพระมหานคร(4) เป็นต้น   เกี่ยวกับเส้นทางในอีสานตั้งแต่เมืองที่ส่งส่วยผู้นําส่วยมา เวลาที่ออกจากเมืองต่างๆ ที่หยุดพัก แล้วออกจากเมืองเมื่อใด โดยเฉพาะเมืองที่เป็นท่าพักสองสาย คือ สายแรกทางบกผ่านเมืองนครราชสีมา และสระบุรี  สายที่สอง ทางน้ำผ่านเมืองกบิลบุรี และปราจีน เมืองที่เป็นจุดแวะพักเหล่านี้จะต้องส่งใบบอกถึงรายละเอียดต่างๆ ไปยังกรุงเทพฯ อันประกอบด้วย ชื่อเมืองที่มาแวะพัก มาถึงเมื่อใด จัดเตรียมอะไรไว้ให้ ชั่งน้ําหนักส่วยได้เท่าไร เก็บภาษีอะไรบ้าง ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งการมีใบบอกมาเป็นระยะๆ เช่นนี้ ก็ยังมีประโยชน์ต่อกรุงเทพฯ ในแง่ของการใช้ท้องถิ่นตรวจสอบซึ่งกันและกันอีกทางหนึ่งด้วย(5)

           ภาพแผนที่แบ่งเขตแดนฝรั่งเศส -สยาม พ.ศ. 2424 (ค.ศ.1881) สมัย ร.5 ในยุคที่ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ  ขณะที่ยังมีสถานะเป็นเมือง แสดงให้เห็นที่อาศัยดั้งเดิมของชนชาติพันธุ์ต่างๆได้ละเอียดดีมาก โดยเฉพาะในแผนที่ฝรั่งเศส ในช่วง พ.ศ.2424 นี้ แถบพื้นที่ 3 เมืองนี้ ฝรั่งเศสใช้ข้อความว่า KOUYS เพื่อบอกว่ายุคที่เดินทางสำรวจทำแผนที่นั้น พบมีชนชาติพันธุ์กูย/กวย อาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก

     
ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับอีสาน ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2433 เห็นได้ชัดว่าทั้งสองพื้นที่มีความสัมพันธ์ต่อกันผ่านระบบของการเกณฑ์ส่วย และบรรณาการเท่านั้น สยามไม่ได้มีอํานาจเบ็ดเสร็จ และสมบูรณ์เหนือพื้นที่บริเวณอีสาน หากแต่อํานาจของสยาม มีในบริเวณอีสานได้โดยผ่านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองจากส่วนกลาง กับเจ้าเมือง กรมการ หรือเจ้าประเทศราชเพียงเท่านั้น ความคิดของชนชั้นนําสยามที่มีต่อพื้นที่อีสานจึงถูกจํากัดอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของอํานาจการปกครองดังกล่าว   ต่อมาในช่วงหลังปี พ.ศ. 2433 - พ.ศ.2475 เป็นช่วงที่สยามได้ก้าวสู่การเป็นรัฐสยามใหม่ ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ จึงมีลักษณะที่สอดคล้องกับการดึงอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางของกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน การเดินทางในบริเวณอีสานของชนชั้นนําสยาม ถูกบอกเล่า และตีพิมพ์เพื่อแลกเปลี่ยนกันในหมู่ชนชั้นนําอย่างแพร่หลายผ่านวารสารต่างๆ อาทิ วชิรญาณวิเศษ เทศาภิบาล วิทยาจารย์  รวมไปถึงการให้เจ้านายท้องถิ่นเขียนและส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ อีกเป็นจํานวนมากแสดงถึงความสนใจในเรื่องอีสานของชนชั้นนําสยามที่มีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 

        สำหรับคำที่ใช้เรียกชนชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเองคือ กูย หรือ กวย  เป็นคำนาม เมื่ออยู่โดดๆ ไม่ได้แปลว่า คน หรือ ใคร เพียงเท่านั้น แต่หมายถึง ชื่อเรียกชนชาติพันธุ์เก่าแก่ชนชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีอารยธรรมอันดีงามร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในดินแดนสุวรรณภูมิ เช่นชาวกูยในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆแถบอีสานใต้ในปัจจุบัน และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและลาว ก็ยังพบชนชาติพันธุ์นี้อาศัอยู่กันเป็นจำนวนมากหลายหมู่บ้านตำบล และนอกจากนี้ คำว่า กูย ยังหมายรวมถึง ภาษากูย อีกด้วย ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้พูดคุยสื่อสารกันในชีวิตประจำวันที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ตัวอย่างเสียงพูดภาษากูย ของชนชาติพันธุ์กูย ที่จังหวัดพระวิหาร
(សូមអញ្ជើញស្តាប់សំឡេងនិយាយភាសាកួយរបស់ជនជាតិកួយ នៅខេត្តព្រះវិហារ)


 ข้อมูลชาติพันธุ์วิทยา ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์(21 ตุลาคม 2561) 

      ข้อเสนอแนะ เห็นควรใช้ว่า กูย หรือ กวย เป็นคำที่ชนเผ่านี้เรียกชื่อชนเผ่าเขาเอง ซึ่งก็พอจะรับได้ ซึ่งตรงกับชื่อชนเผ่านี้มากกว่าคำว่ายัดเยียดคำว่า "ส่วย"เพื่อใช้เรียกชนชาติพันธุ์นี้ และจากการสืบค้นในเอกสารอื่นๆ พบว่า ในภาษาเขมรเรียกว่า កួយ (អក្សរសព្ទខ្មែរ: /កួយ/) อ่านว่า /กวย/ หรือ /กูย/ ในภาษาละตินเขียนว่า kuoy(អក្សរសព្ទឡាតាំង: /kuoy/) อักษรสัทศาสตร์สากล(IPA)เขียนว่า / kuəy / และในภาษาอังกฤษ นักวิชาการด้านชาติพันธุ์พบใช้ 5 คำดังนี้  Koui or Kouy , Kuay, Kuy ,kui แปลว่า people live primarily in Southeast Asia, including the countries Thailand, Laos and Cambodia. และในฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ก็ใช้คำว่า กูย หรือกวย ซึ่งเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนกูย หรือกวยในอีสานใต้บ้านเราใช้เรียกตนเอง อีกด้วย


ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย
โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) เรียกว่า  กูย หรือ กวย 

      ทำไมต้องเรียกชื่อชนเผ่าว่า "กูย" หรือ "กวย" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ 

   1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี ต้องการจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งทราบกันดีแล้วว่าเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์ 

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร เช่น คำว่า “ลัวะ” ถูกใช้ในความหมายที่ครอบคลุมกลุ่มชนที่มีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมแตกต่างกัน (รวม ลเวือะ ลัวะ และปลังเข้าด้วยกัน) 

    แต่ทว่า...หากพวกท่านยังต้องการ(ยัดเยียด)ให้ประชาชนชาวกวย/กูย ในอำเภอหรือจังหวัดของท่านเป็นส่วยต่อไป...ก็จงเรียกกันต่อไปเถอะ...เราจะขอบันทึกชื่อท่านไว้ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ยังเข้าใจผิด...และยัดเยียดคำว่า"ส่วย" ให้ชนชาติพันธุ์กลุ่มนี้...ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้ว ทุกชนชาติพันธุ์ในภาคอีสานบ้านเราต่างประสบกับวาทะกรรมนี้ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีตนานมากว่า 250 ปีแล้ว...เหมือนๆกับที่เราควรเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “เจ๊ก” สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนไม่ว่าแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ฮกเกี้ยน ไหหลำ หรือหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “ญวน” สำหรับคนเวียดนาม หรือคำว่า “แม้ว” สำหรับ “ม้ง” ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น

REFERENCE :
(1) หอสมุดแห่งชาติ,หมู่จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 1 จ.ศ. 1144 เลขที่ 7 ก สําเนาศุภอักษรเมืองเวียงจันทน์ . อ้างถึงใน ธีรชัย บุญมาธรรม, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของหัวเมืองกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2336-2450, หน้า 34.
(2) หอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1026 เลขที่ 184 เรื่องสารตราเรื่องขุนอินอํานาจ ขุนศรีสุระฯ ยื่นเรื่องราวเลกไพร่หลวงอพยพหลบหนี, อ้างถึงใน อุศนา นาศรีเคน, อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ตั้งแต่หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, หน้า 101.
(3) วราภรณ์ ทิวานนท์, “การค้าสําเภาของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชา
ประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 38-39.

(4) วราภรณ์ ทิวานนท์, “การค้าสําเภาของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522), หน้า 38-39.

(5) อุศนา นาศรีเคน,อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพฯ ตั้งแต่หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475, หน้า 66-67.

(6) https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระรามาธิบดีที่_2

- "The Kuy People of Laos". Southeast Asian Peoples Research Center. Retrieved October 8, 2013.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) http://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/ethnic_classification.php
- https://www.wikidata.org/wiki/Q4444914
- https://en.wikipedia.org/wiki/Kuy_people

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย